รัฐบาลลาวต้องยุติการบิดเบือนในการสอบสวนคดีต่อนายสมบัด

2014-09-18-14.56.39
From left to right: Kanya Khammoungkhoun, Deputy-Director of ASEAN Politcal and Security Division, Ministry of Foreign Affairs of the Lao PDR; U Shwe Maung, Chair of APHR Myanmar Caucus; Mr. Phoukhong Sisoulath, Representative of Laos PDR to AICHR; Charles Santiago, Chair of APHR Malaysia Caucus

กรุงเทพฯ – รัฐบาลลาวควรแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่จากการสอบสวนคดีการลักพาตัวนายสมบัด สมพอนกับครอบครัวของเขาและหน่วยงานอิสระ ต้องยุติการเล่นเกมบิดเบือนโดยอ้างหลักอธิปไตยของชาติเป็นข้อแก้ตัว และไม่ยอมปรึกษาหารืออย่างจริงจังในด้านการสอบสวนคดีคนหายคดีนี้ สมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวในวันนี้

“ทางการลาวได้ตั้งกำแพงของความเงียบเพื่อปิดกั้นการสอบสวน จนถึงขนาดที่อาจกล่าวได้ว่าในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีการสอบสวนเกิดขึ้นเลย และความดื้อดึงเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการกลบเกลื่อนบทบาทของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัวครั้งนี้” นายชาร์ล ซานติเอโก (Charles Santiago) สส.มาเลเซียและรองประธานองค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าว

“เราถือว่าคุณสมบัดเป็นพลเมืองของอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะของลาว เราจึงมีสิทธิและหน้าที่ในการค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา แต่การเล่นเกมถ่วงเวลา การปฏิเสธไม่รับความช่วยเหลือ การให้ข้อมูลเท็จและการแสดงท่าทีไม่เป็นมิตรในบางครั้งของทางการลาวเมื่อถูกสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการสอบสวน เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย ไม่เพียงเฉพาะในสปป.ลาว แต่เกิดขึ้นกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด”

สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนเดินทางไปยังสปป.ลาวระหว่างวันที่ 15-20 กันยายน ทั้งนี้เพื่อค้นหาความจริงและติดตามผลการสอบสวนชะตากรรมของคุณสมบัด ในระหว่างการเดินทางไปเยือนครั้งนี้ บรรดาสส.ได้พบกับตัวแทนของรัฐบาลลาว สภานิติบัญญัติแห่งชาติและกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งนาย Phoukong Sisoulath ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศลาวในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Inter-Governmental Commission on Human Rights – AICHR)

นอกจากปัญหากรณีคุณสมบัดแล้ว สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนยังตกใจกับสภาพความหวาดกลัวและการกดขี่ปราบปรามที่ทางการลาวกระทำต่อภาคประชาสังคมของตนเอง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบังคับบุคคลให้สูญหายกรณีคุณสมบัดเมื่อเดือนธันวาคม 2012 องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนตกใจกับมาตรการควบคุมเสรีภาพเพิ่มเติม จากการผลักดันร่างพระราชบัญญัติใหม่สองฉบับในรัฐสภา เพื่อควบคุมการดำเนินงานของหน่วยงานไม่แสวงหากำไรในประเทศและจากต่างประเทศ กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายควบคุมและตรวจสอบแหล่งทุน รวมทั้งจำกัดประเด็นปัญหาที่หน่วยงานเหล่านี้สามารถเข้าไปทำงานและเกี่ยวข้องด้วย

ในระหว่างการประชุม องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนได้มีข้อเสนอที่ชอบธรรมและเหมาะสมต่อนาย Phoukhong และตัวแทนของรัฐบาลลาว ทั้งนี้เพื่อแก้ไขอุปสรรคที่ขัดขวางการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของคุณสมบัด โดยประกอบด้วยการกำหนดให้มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อกรณีเร่งด่วนหรือฮอตไลน์ และการให้รางวัลสำหรับเบาะแสในคดีนี้ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในที่อื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดตอนที่มีการลักพาตัวเขาไปได้อย่างเหมาะสม และให้มีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ซึ่งประจำอยู่ที่ป้อมยามตำรวจตอนที่คุณสมบัดถูกลักพาตัว แต่ทางการลาวปฏิเสธที่จะรับข้อเสนอเหล่านี้ทันที โดยกล่าวหาว่าไม่สอดคล้องกับ “จารีตแบบลาว” ทั้งทางการยังปฏิเสธคำร้องขอที่จะเข้าถึงสำนวนคดี และการขอเข้าพบกับหัวหน้าเจ้าพนักงานผู้สอบสวนคดีนี้

แม้ว่าองค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนจะขอบคุณต่อทางการลาวที่อนุญาตให้มีการเดินทางครั้งนี้ และยอมรับว่าการพูดคุยที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่เป็นมิตรและเป็นมืออาชีพ แต่คำตอบที่เราได้รับยังเป็นเรื่องน่าผิดหวังอย่างมาก ในทำนองเดียวกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของทางการลาวที่จะปิดกั้นไม่ให้มีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการหายตัวไปของคุณสมบัด

องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนทราบว่า ทางผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำสปป.ลาวได้รับการร้องขอให้ตัดเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวกับการหายตัวไปของคุณสมบัด ออกไปจากรายงานที่ประเทศลาวจะส่งมอบให้กับคณะกรรมการทบทวนด้านสิทธิมนุษยชนตามวาระ หรือ Universal Periodic Review แต่ทางผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำสปป.ลาวไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอของรัฐบาลลาว ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานภาคประชาสังคมต่างต้องปิดปากตัวเอง เพราะกลัวว่าจะถูกตอบโต้หากเข้าไปมีบทบาทในประเด็นที่ถือว่าอ่อนไหวมากสุดสำหรับรัฐบาลลาวในปัจจุบัน

“ทางการลาวแสดงท่าทีเข้มงวดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา ดูเหมือนจะมีความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะทำลายการสอบสวนในเรื่องพื้นฐานมากสุด และเป็นข้อมูลที่ไม่อาจโต้แย้งได้” นายซานติเอโกกล่าว

“คนที่พยายามขอคำตอบอย่างซื่อสัตย์ต่อคำถามพื้นฐานเหล่านี้ กำลังถูกปฏิบัติเหมือนเป็นผู้ยุยงปลุกปั่นและเป็นศัตรู เป็นการบิดเบือนความจริงของสถานการณ์อย่างไม่อาจยอมรับได้”

ถ้ารัฐบาลลาวมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหานี้ และมีความกังวลเช่นเดียวกับพวกเราทุกคน เหตุใดจึงมีความพยายามขัดขวางช่องทางที่เป็นไปได้ของการสอบสวน? องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนถาม

จุดยืนใหม่ของรัฐบาลคือการยืนยันว่าบุคคลที่อยู่ในภาพจากกล้องวงจรปิด อาจไม่ใช่คุณสมบัด และมีความพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของการสอบสวนของหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ทำการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของคุณสมบัด ตัวแทนสปป.ลาวยังแสดงท่าทีว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดไม่ได้มีประโยชน์หรือไม่น่าจะทำให้เกิดข้อสงสัยใด ๆ ที่ผ่านมาทางการลาวไม่ยอมเผยแพร่ภาพวีดิโอต้นฉบับเพื่อให้หน่วยงานอิสระตรวจสอบได้

องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนย้ำต่อทางการลาวว่า ในปัจจุบันมีความขุ่นเคืองและไม่พอใจอย่างกว้างขวางต่อการสอบสวนคดีนี้ รวมทั้งต่อภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศลาว

องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนแนะนำรัฐบาลลาวว่า มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ และอาจกระทบต่อการเข้าถึงเงินกู้เพื่อการพัฒนาของลาว และความพยายามที่จะเข้าไปนั่งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในปี 2016 ด้วย

“หากเราไม่สามารถคลี่คลายคดีการหายตัวไปของคุณสมบัด สมพอนได้ภายในปี 2016 จะกลายเป็นเมฆดำถาวรที่ปกคลุมความเป็นผู้นำของลาวในอาเซียน และจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการขึ้นดำรงตำแหน่งประธาน รวมทั้งผลกระทบจากการปราบปรามมากขึ้นที่มีต่อภาคประชาสังคม” คุณซานติเอโกกล่าว

รัฐบาลลาวส่งสัญญาณยอมรับความร้ายแรงของอาชญากรรมการบังคับบุคคลให้สูญหาย โดยมีการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย (Convention Against Enforced Disappearance) ในวันที่ 29 กันยายน 2008 ในทำนองเดียวกัน ทางการลาวต้องประกันว่า เจ้าพนักงานของรัฐจะต้องไม่ปฏิบัติในทางตรงข้ามกับวัตถุประสงค์และเป้าประสงค์ของสนธิสัญญาฉบับนี้ และต้องถูกกดดันให้ปฏิบัติตามพันธกิจนั้น

ในปัจจุบัน มีการจำกัดเสรีภาพของการแสดงออก และการควบคุมภาคประชาสังคมในลาวอย่างเข้มงวด องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนเรียกร้องทางการลาวให้เคารพและคุ้มครองสิทธิของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและหน่วยงานภาคประชาสังคมอื่น ๆ เพื่อให้พวกเขาสามารถปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น ต้องมีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกิดจากกฎหมายและการปฏิบัติซึ่งขัดขวางการทำงานของหน่วยงานภาคประชาสังคมในลาว และมีการปรับปรุงให้ข้อบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบและการสมาคม สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

สมาชิกองค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายท่าน ยังเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้แทนที่ไปเยือนสปป.ลาวเพื่อสอบถามความคืบหน้าการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของคุณสมบัดในเดือนมกราคม 2013 โดยมีผู้เดินทางประกอบด้วยสส.วอลเดน เบลโล (Walden Bello) จากฟิลิปปินส์ และสส.ชาร์ล ซานติเอโก จากมาเลเซีย บรรดาเจ้าหน้าที่ที่สส.ทั้งสองท่านได้พบต่างยอมรับว่า การหายตัวไปของคุณสมบัดส่งผลกระทบอย่างมากต่อชื่อเสียงของสปป.ลาว แต่คำตอบที่ได้รับยังไม่เป็นที่น่าพอใจ และบรรดาสส.ได้แจ้งให้ตัวแทนของลาวได้ทราบ

องค์การสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนรู้สึกยินดีกับความพยายามและความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของผู้แทนการทูตประเทศต่าง ๆ ในเวียงจันทน์ รวมทั้งรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาในยุโรปและที่อื่น ๆ พวกเขายังคงแสดงความกังวลในเรื่องนี้ต่อทางการลาว

0 Replies to “รัฐบาลลาวต้องยุติการบิดเบือนในการสอบสวนคดีต่อนายสมบัด”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.