การหายตัวไปของนักกิจกรรมทำให้เกิดภาพที่มัวหมองของรัฐบาลลาวที่เป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน

Bangkok Post: 16 June 2013

หกเดือนหลังจากการลักพาตัวสมบัด สมพอน ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหว ทำให้ประเทศลาวอยู่ในสภาพล้าหลังประเทศเพื่อนบ้าน เป็นภาพของระบอบปกครองที่สร้างความกลัวเพื่อรักษาอำนาจและประโยชน์ของตน

UNITED FRONT: กลุ่มนักเคลื่อนไหวประมาณ 20 คนจากประเทศไทยและลาวได้รวมตัวที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ทางการที่กรุงเวียงจันทน์เร่งสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน

หกเดือนหลังจากการหายตัวไปในกรุงเวียงจันทน์ของสมบัด สมพอน ผู้ก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อช่วยเหลือเยาวชนในชนบท รัฐบาลลาวมีสภาพเหมือนแกะดำมากขึ้นเรื่อย ๆ ในบรรดาประชาคมอาเซียน

ในขณะที่พม่าถอยห่างจากระบอบเผด็จการในอดีตมากขึ้นเรื่อย ๆ มีการเปิดเสรีด้านสื่อสิ่งพิมพ์ และเปิดพื้นที่การเมืองให้กับฝ่ายคัดค้านรัฐบาล แต่รัฐบาลลาวยังคงติดยึดอยู่ในบ่วงของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบทของภูมิภาคเลย

สัญญาณล่าสุดของปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม กล่าวคือทางการลาวได้ส่งตัวเยาวชนเก้าคนกลับไปประเทศเกาหลีเหนือ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาได้หลบหนีมาจากประเทศบ้านเกิดที่ปกครองด้วยระบอบสตาลิน ด้วยความช่วยเหลือจากชาวคริสต์เกาหลีใต้ทำให้สามารถเดินทางหลบหนีข้ามประเทศจีนเข้าสู่ลาว

ข้าพเจ้าอยากอธิบายว่าระบอบปกครองในลาวเหมือนกับระบอบธนาธิปไตย มีการนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศออกประมูลขายเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็ก ๆ โดยอ้างว่าเป็นการทำตามลัทธิคอมมิวนิสต์” ผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกคนหนึ่งในเวียงจันทน์กล่าว
และการหายตัวไปของสมบัด ซึ่งเป็นนักกิจกรรมอาวุโสซึ่งเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพอย่างมากในลาว เป็นสัญญาณที่เลวร้ายซึ่งสะท้อนถึงด้านมืดของประเทศนี้


เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ระหว่างที่สมบัดขับรถจี๊บไปตามถนนท่าเดื่อ เลียบแม่น้ำโขงด้านตะวันออกของกรุงเวียงจันทน์ ได้มีตำรวจในเครื่องแบบเรียกเขาให้จอด และหลังจากนั้นมีบุคคลนอกเครื่องแบบนำตัวเขาใส่เข้าไปในรถกระบะและขับหนีออกไป

เหตุการณ์ทั้งหมดได้รับการบันทึกไว้ในกล้องทีวีวงจรปิด ซึ่งคุณอึ้งชุ่ยเม้ง ภรรยาของสมบัดได้มีโอกาสดูที่สถานีตำรวจ และเธอยังมีสติมากพอที่จะใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพวีดิโอเหล่านั้นไว้ (สามารถดูภาพวีดิโอได้จากเว็บไซต์ https://sombath.org)

นับแต่นั้นมา ตำรวจก็ปฏิเสธที่จะเผยแพร่ภาพวีดิโอต้นฉบับ และแม้ทางการลาวจะตระหนักดีว่าการสืบสวนสอบสวนเกิดความล่าช้าเนื่องจากขาดความรู้ด้านเทคโนโลยี แต่ทางการลาวก็ปฏิเสธความช่วยเหลือที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ต้องการมอบให้ เพื่อที่จะจำแนกตัวบุคคลและยานพาหนะในภาพวีดิโอนั้น

รัฐบาลพูดวนเวียนอยู่เพียงประเด็นเดียวตั้งแต่ต้น พวกเขาอ้างว่าอาจเป็นเพราะ “ความขัดแย้งทางธุรกิจ”” อึ้งชุ่ยเม้ง ซึ่งมีสัญชาติสิงคโปร์กล่าว “ที่ผ่านมาพวกเขาไม่ยอมให้ข้อมูลที่สำคัญกับดิฉันเลย”

511891
HOLDING OUT HOPE: อึ้งชุ่ยเม้ง ภรรยาของสมบัด สมพอน ถือภาพโปสเตอร์สามีตนเองที่ร้านค้าแห่งหนึ่งในกรุงเวียงจันทน์เมื่อต้นปีนี้ ไม่นานหลังจากที่เขาหายตัวไป

ผู้สังเกตการณ์จากตะวันตกส่วนใหญ่ในเวียงจันทน์เห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่าทางการลาวอาจเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปครั้งนี้

มีความเชื่อทั่วไปว่าอาจเป็นเพราะนักการเมืองลาวที่ทรงอิทธิพลคนหนึ่งพยายามหาทางตอบโต้สมบัด และนักการเมืองคนดังกล่าวได้รับการคุ้มครองจากผู้นำประเทศ

ลาวเป็นประเทศเล็ก ๆ และมีระบบข่าวกรองด้านความมั่นคงที่ดีมาก” ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเวียงจันทน์มาเป็นเวลานานกล่าว

ตั้งแต่ระดับบนจนถึงระดับหมู่บ้าน ในแต่ละหมู่บ้านจะมีระบบที่คอยสอดส่องคนแปลกหน้า เป็นไปได้อย่างไรที่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์หรือโปลิตบูโรไม่ทราบข้อมูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”

ตอนที่ตำรวจลาวปราบปรามผู้เดินขบวนสนับสนุนประชาธิปไตย อย่างเช่น เมื่อปี พวกเขาทำงานได้ดีมาก แต่ในกรณีการสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของสมบัด พวกเขากลับทำหน้าที่ได้ไม่ดีเลย หลังจากหกเดือนผ่านไป พวกเขายังไม่สามารถติดตามเอารถจี๊บกลับมาได้ด้วยซ้ำ

จากสถิติที่ผ่านมา ทางการลาวมักปฏิบัติอย่างโหดร้ายกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แม้ว่าจะเริ่มนำนโยบายเศรษฐกิจเสรีมาใช้เมื่อช่วงปลายทศวรรษ 1980

“รัฐบาลลาวใช้วิธีที่โหดเหี้ยมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่เคลื่อนไหวจากในฝั่งไทย ถึงขั้นจ้างมือปืนไปยิงทิ้งก็มี” อดิศร เสมแย้ม ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับประเทศลาวที่สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว

กรณีที่รู้จักกันดีคือการสังหารท้าวอะนุวงและพระชายาอุไรวรรณ เศษฐาธิราช ชาวอเมริกันเชื้อสายลาวสองคน ซึ่งอ้างว่าเป็นเชื้อพระวงศ์

ในเดือนตุลาคม 1999 มีการจับกุมแกนนำการเดินขบวนประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่กรุงเวียงจันทน์ ซึ่งต้องยุติลงกลางคัน จากนั้นมีการตัดสินลงโทษจำคุกพวกเขาสิบปี และแม้จะใช้โทษจนครบแล้ว ก็ไม่มีใครเห็นพวกเขาอีกเลย

“ลาวเป็นประเทศหลอกลวง เราอาจไม่มีภาพของเผด็จการ เพราะเผด็จการที่นี่ถูกซ่อนรูปไว้ มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น แต่เราทำเหมือนมันไม่มีอะไรเกิดขึ้น” ผู้ทำงานด้านเอ็นจีโอคนหนึ่งกล่าว

แต่การหายตัวไปของสมบัดนับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เนื่องจากเขาไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง และมักทำงานร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับทางการ หลังจบการศึกษาที่สหรัฐฯ เขากลับมาที่ลาวเมื่อปลายทศวรรษ 1970 และเริ่มทำงานด้านการพัฒนาเกษตร

ในปี 1996 เขาก่อตั้งศูนย์อบรมเพื่อการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมหรือ PADETC (Participatory Development Training Centre) ที่มีวัตถุประสงค์ในการอบรมเยาวชนเพื่อให้ช่วยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิให้กับชาวบ้าน

ในปี 2005 เขายังได้รับรางวัลรามอน แม็กไซไซ เพื่อเป็นเกียรติยศกับงานของเขา

“เป้าหมายหลักในการทำงานของเขาคือการช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตนเอง ไม่ใช่การเผชิญหน้ากับรัฐบาล” อึ้งชุ่ยเม้งกล่าว

เมื่อปีที่แล้ว สมบัดได้เกษียนตัวเองจากการเป็นผู้นำองค์กรดังกล่าว

แหล่งข่าวส่วนใหญ่ชี้ว่า การหายตัวไปของเขาเป็นผลมาจากการที่เขาทำหน้าที่เป็นประธานร่วมของคณะผู้จัดงานเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe People’s Forum – APF) ที่กรุงเวียงจันทน์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว ก่อนจะมีการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (Asia Europe Summit)

สมบัดและประธานร่วมอีกคนหนึ่งได้จัดเวทีดังกล่าวด้วยความเห็นชอบจากทางการ และมีขบวนการและแนวร่วมจากหลายส่วนที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐเข้าร่วม แต่ “เหตุการณ์” หลายอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุม น่าจะทำให้ผู้นำระดับสูงบางคนไม่พอใจ

511892
MOST WANTED BACK: ภาพโปสเตอร์ในเวียงจันทน์เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลการหายตัวไปของสมบัด สมพอน บรรดาประเทศและนักเคลื่อนไหวในต่างแดนกำลังกดดันทางการลาวให้เร่งสืบสวนสอบสวนกรณีการหายตัวไปของเขา

ถ้องแถลงวิสัยทัศน์สำหรับประเทศลาว ซึ่งสมบัดเป็นผู้ร่วมเขียน และเป็นบทสรุปการปรึกษาหารือที่เกิดขึ้นก่อนเวทีระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ใช่ทางออกสำหรับปัญหาทั้งหมดในประเทศลาว ซึ่งอาจถูกมองว่าเป็นการแสดงจุดยืนที่ตรงข้ามกับความพยายามอย่างหนักหน่วงของผู้นำลาวที่มุ่งแสวงหาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทางการลาวยังได้ห้ามไม่ให้เผยแพร่วิสัยทัศน์ดังกล่าวในที่ประชุม

ในระหว่างการประชุมเวทีภาคประชาชนเอเชีย-ยุโรป ชาวบ้านบางส่วนได้ขึ้นเวทีอภิปรายว่าที่ผ่านมาทางการได้ให้สัมปทานที่ดินกับเอกชน เป็นเหตุให้ที่ดินของพวกเขาถูกเวนคืน เอกชนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากเวียดนามหรือจีน และเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่

“ปัญหานี้นับเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากสุดอย่างหนึ่งในประเทศที่มีการส่งเสริมกิจการเหมืองแร่และการปลูกยางพาราอย่างแพร่หลายและรวดเร็ว” ผู้อำนวยการเอ็นจีโอแห่งหนึ่งที่เวียงจันทน์กล่าว

ชาวบ้านบางส่วนได้ถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ทันที พวกเขาถูกข่มขู่ทั้งทางวาจาหรือการส่งเป็นข้อความสั้นเข้าโทรศัพท์ กล่าวหาว่าเป็น “ผู้ทรยศต่อประเทศ” แม้จะกลับไปที่หมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านเหล่านี้ก็ยังถูกคุกคามต่อไป

ผู้จัดการประชุมได้นำหมายเลขโทรศัพท์ที่ส่งข้อความมาข่มขู่ไปให้กับทางการดู แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใด ๆ

“เวทีนี้ทำให้ภาพของภาคประชาสังคมชัดเจนขึ้น” ผู้อำนวยการเอ็นจีโอกล่าว “แสดงให้เห็นศักยภาพของเราที่จะจัดตั้งและเคลื่อนไหวทั้งในระดับแขวงด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางการไม่พอใจ”

ปฏิบัติการในครั้งนั้นยังทำให้รัฐบาลตระหนักถึงศักยภาพของกลุ่มประชาสังคม เหมือนที่แหล่งข่าวในเอ็นจีโอแห่งหนึ่งกล่าวว่า “พวกเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องส่งสัญญาณบางอย่างด้วยการตอบโต้กับสมบัด”

การหายตัวไปครั้งนี้เกิดขึ้นในท่ามกลางบรรยากาศความหวาดกลัวและการข่มขู่ ในการเขียนรายงานฉบับนี้ แทบไม่มีแหล่งข่าวใดในเวียงจันทน์ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อจริงของตนในการเขียนเลย คนที่เห็นอกเห็นใจสมบัดและอยู่ในแวดวงผู้มีอำนาจ ก็ได้รับแจ้งว่า “ไม่ใช่ธุระของตน อย่าไปยุ่ง”

“เป็นเหมือนกำแพงแห่งความเงียบที่เกิดขึ้น ดิฉันก็ไม่รู้ว่าทำไม” อึ้งชุ่ยเม้งกล่าว

ในประเทศที่ไม่สามารถเจาะข้อมูลได้อย่างลาว ในประเทศที่สื่อมวลชนตกอยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง และผู้พิพากษาก็ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคเพื่อการปฏิวัติของประชาชนลาว การพยายามแสวงหาข้อมูลว่าใครที่อยู่เบื้องหลังการลักพาตัวสมบัดเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ที่ผ่านมามีการระบุถึงชื่อบุคคลบางคน อย่างเช่น คนที่เป็นลูกหลานของสมาชิกคณะกรรมการพรรค ซึ่งมาจากครอบครัวศักดินาเก่าซึ่งมีอิทธิพล และเป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่

“โครงสร้างการเมืองของลาวอยู่บนพื้นฐานอาณาจักรแบบครอบครัว” นักวิเคราะห์จากตะวันตกที่เวียงจันทน์กล่าว “เป็นระบบที่ดำเนินสืบเนื่องมาหลายชั่วคน มีอยู่ 10 หรือ 15 ครอบครัวที่แข่งขันกันเอง และแข่งขันกับคนภายนอกที่มีผลประโยชน์แบบเดียวกัน”

ว่ากันว่าลูกหลานที่ถูกเลี้ยงดูจนเสียนิสัยจากครอบครัวเหล่านี้ เป็นพวกที่ “ห่ามมาก ๆ” ไม่ต่างจากคนที่ยกตัวเองเป็น “เจ้านาย” คนอื่น คนพวกนี้ชอบขับรถสปอร์ตหรูทั่วกรุงเวียงจันทน์ พวกเขารู้ว่าถึงจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ศาลก็เอาผิดพวกเขาไม่ได้เพราะได้รับการคุ้มครองจากครอบครัว คนเหล่านี้ควบคุมธุรกิจในหลายแขวง โดยเฉพาะที่แขวงคำม่วนและสะหวันนะเข

มาร์ติน สจ๊วต-ฟ็อกซ์ (Martin Stuart-Fox) ศาสตราจารย์กิตติคุณแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ซึ่งศึกษาการเมืองลาวในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเห็นด้วยว่า ระบบอุปถัมภ์เป็นลักษณะสำคัญของระบอบปกครองที่นี่

“คนลาวอาจเอาแบบอย่างมาจากประเทศอื่น อย่างเช่นที่เอามาจากประเทศกัมพูชา” เขากล่าว

“เหมือนที่กัมพูชา การเมืองในลาวอยู่ภายใต้ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ ผู้มีอิทธิพลในคณะกรรมการกลางพรรคสามารถดำรงสถานะของตนเองได้ เพราะได้สร้างเครือข่ายการเมืองของตนเองขึ้นมาภายในพรรค”

ส่วนคนในรุ่นทศวรรษ 1940 และ 1950 ที่เป็นพวกเทคโนแครตที่เรียนจบจากยุโรป ออสเตรเลีย หรือสหรัฐฯ และหวังดีต่อประเทศ ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับแบบแผนดังกล่าว

“พวกเขาอาจหวังว่าลาวจะเป็นสังคมเปิดมากกว่านี้ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น และพวกเขารู้ว่าต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบอุปถัมภ์เช่นนี้ หากต้องการได้รับประโยชน์บางอย่าง” สจ๊วต-ฟ็อกซ์กล่าว

ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งก็คือ คนที่อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของสมบัด และผู้นำที่ช่วยคุ้มครองคนเหล่านี้ ประเมินปฏิกิริยาของนานาชาติต่ำเกินไป

“พวกเขาอาจคิดว่าเดี๋ยวสักพักคนก็ลืมกันไป แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น” ผู้แทนจากชาติตะวันตกคนหนึ่งในลาวกล่าว

“ต้นทุนที่พวกเขาต้องจ่ายจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ทางออกมีอยู่อย่างเดียวคือการปล่อยตัวสมบัด แม้ว่าจะทำให้เกิดการเสียหน้าอยู่บ้าง”

ประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ได้จัดให้ประเด็นของสมบัดเป็นวาระเร่งด่วนในการเจรจาระดับทวิภาคี และบรรดารัฐมนตรีของลาวซึ่งเดินทางไปยุโรปก็มักได้รับการเตือนเกี่ยวกับปัญหานี้ ส่วนในประเทศไทย มีการจัดตั้งเครือข่ายทั้งที่เป็นมิตรสหาย ผู้ทำงานเอ็นจีโอ ผู้สื่อข่าว และนักวิชาการเพื่อติดตามค้นหาสมบัด และกดดันทางการลาวต่อไป

ในระดับรัฐบาลของอาเซียน ดูเหมือนว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะมีบทบาทมากสุด ส่วนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจชะตากรรมของสมบัดสักเท่าไร

แม้แต่เวียดนามที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็น “พี่ใหญ่” ของประเทศลาว นับแต่ปะเทดลาวหรือขบวนการปฏิวัติลาวได้เข้ายึดอำนาจที่เวียงจันทน์เมื่อเดือนธันวาคม 1975 ก็มีข่าวว่าเกิดความไม่พอใจต่อการไร้ความสามารถของทางการลาวในการจัดการกับปัญหานี้ ซึ่งเริ่มจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของเวียดนามเช่นกัน

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการปฏิบัติที่เลวร้ายของบริษัทจากเวียดนามในลาวมากเท่านี้” แหล่งข่าวซึ่งทำงานด้านที่ดินในประเทศกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติที่เกิดขึ้นในลาว

ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนเมษายนที่บรูไน ประเทศสมาชิกบางแห่งเสนอให้บรรจุประเด็นการหายตัวของบุคคล (รวมทั้งกรณีชาวโรฮิงญา) เป็นวาระการประชุมของคณะกรรมาธิการระหวางรัฐบาลอาเซียนวาดวยสิทธิมนุษยชน (Asean Intergovernmental Commission on Human Rights) แต่เนื่องจากไม่มีเสียงที่เป็นเอกฉันท์ ทำให้วาระดังกล่าวตกไป

อึ้งชุ่ยเม้งกล่าวว่า อาเซียนอาจมีบทบาทที่สำคัญได้ในเรื่องนี้ เพราะว่า “กรณีนี้ไม่ใช่เรื่องของประเทศลาวเท่านั้น แต่เป็นประเด็นระดับภูมิภาค เนื่องจากสมบัดเป็นตัวแทนของเสียงของประชาคมอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง”

แม้ว่าการหายตัวไปครั้งนี้จะทำให้เกิดความหวาดกลัว แต่ชาวตะวันตกบางส่วนซึ่งทำงานในเวียงจันทน์เห็นว่า เหตุการณ์ที่เลวร้ายครั้งนี้มีผลกระทบในทางที่ดีเช่นกัน

“รัฐบาลลาวไม่ใช่รัฐบาลที่ปกครองด้วยกฎหมาย แต่ปกครองด้วยความหวาดกลัว” แหล่งข่าวในเอ็นจีโอกล่าว

“แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ความหวาดกลัวที่ถูกซ่อนเร้นอยู่เป็นที่รับรู้มากขึ้น ทำให้เส้นแบ่งที่ถูกมองข้ามมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้น”

การแสดงความกังวลอย่างกว้างขวางในระดับสากล ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับประเทศลาว น่าจะมีส่วนช่วยคุ้มครองนักพัฒนาและหน่วยงานมนุษยธรรมอื่น ๆ ซึ่งเสี่ยงภัยที่จะส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและเปิดกว้างมากขึ้น และสมบัดเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ดังกล่าว

“คนที่อยู่เบื้องหลังการหายตัวไปครั้งนี้คงต้องคิดหนัก หากพวกเขาต้องการทำแบบนี้อีก” แหล่งข่าวในเอ็นจีโอกล่าว