เสรีชี้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแม่แบบด้านสิทธิ

Bangkok Post: 04 ก.ค. 2556

ดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Asean Inter-Governmental Commission on Human Rights – AICHR) ได้แบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกรอบอ้างอิงการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานแห่งนี้ในระยะห้าปี และความท้าทายที่จะมีขึ้นต่อไป

517811
เสรี: ความท้าทายจะเริ่มขึ้นปีหน้า

อะไรเป็นความท้าทายในการแก้ไขกรอบอ้างอิง?

ความท้าทายในระหว่างกระบวนการที่จะเริ่มขึ้นปีหน้าคือ เราจะสามารถขยายขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้มากน้อยเพียงใด

แม้ว่ากระบวนการแก้ไขเป็นภารกิจของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน แต่เรามีหน้าที่เสนอความเห็นต่อบรรดารัฐมนตรี โดยอินโดนีเซียรับปากว่าจะจัดการประชุมเพื่อทบทวนกรอบอ้างอิงของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ส่วนสิงคโปร์และประเทศไทยจะเข้าร่วมประชุม

ไทยมีแผนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการก่อนสิ้นปี 2557 เพื่อจัดทำชุดแนวปฏิบัติดีสุดสำหรับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาค และเพื่อศึกษาว่าภูมิภาคอื่นในโลกปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไร

มีความท้าทายอยู่บ้างในการจัดอบรมของเรา ซึ่งเดิมเรามีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ในครั้งต่อไป เราจะจัดอบรมให้กับพนักงานอัยการ ทนายความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นฐานร่วมกันของการสอบสวนและกระบวนการไต่สวนที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนในอาเซียน

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นตลอดทั่วภูมิภาค ที่ผ่านมาท่านได้รับคำร้องเรียนหรือจดหมายร้องเรียนหรือไม่?

ครับ ที่ผ่านมาผมได้รับจดหมายร้องเรียนในสามประเด็น ได้แก่ ชะตากรรมของชาวโรฮิงญา การหายตัวไปของสมบัด สมพอน นักกิจกรรมในลาว และกรณีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้พูดคุยว่าจะแก้ปัญหากรณีคุณสมบัดและชาวโรฮิงญาอย่างไร ระหว่างการประชุมในบรูไน มีบางส่วนที่ยังตีความอย่างเคร่งครัดว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนจะต้องไม่เข้าไปแทรกแซงเพื่อให้การคุ้มครองบุคคลใด โดยเป็นผลมาจากหลักการไม่แทรกแซงและหลักฉันทานุมัติ แต่ตัวผมกับสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบางคนเชื่อว่า เราน่าจะทำอะไรได้บางอย่าง

กรอบอ้างอิงฉบับปัจจุบันระบุว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสามารถรับข้อมูลจากรัฐภาคีกรณีที่เป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของตนเองได้

หากเราสามารถปรับปรุงเนื้อหาของกรอบอ้างอิงฉบับใหม่ให้ชัดเจนขึ้นว่า รัฐบาลที่เกี่ยวข้องสามารถอธิบายเกี่ยวกับข้อกังวลที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ตัวสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อาจทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น ไม่รู้สึกว่าตกเป็นจำเลยในคดีที่เป็นปัญหา

ความรู้สึกนึกคิดหรือหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำลังเป็นอุปสรรคต่อการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน?

การแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนจากพื้นฐานด้านกฎหมายเป็นแง่มุมหนึ่ง แต่ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคขึ้นด้วย

มีสมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบางท่านที่คิดว่าตนเองเป็นผู้แทนรัฐบาล แต่ผู้แทนไทยและประเทศอื่น ๆ คิดว่าตัวเองเป็นผู้แทนประเทศต่างหาก อันที่จริงกรอบอ้างอิงระบุไว้อยู่แล้วว่า คณะกรรมาธิการฯเป็นหน่วยงานอิสระและไม่ลำเอียง และสมาชิกสามารถอภิปรายและรับรองประเด็นต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาล

ผมหวังว่าเราจะสามารถพัฒนาระบบคุ้มครองของเราให้ดีขึ้น

ในการแก้ไขกรอบอ้างอิง จะมีการนำความเห็นของกลุ่มประชาสังคมในท้องถิ่นและระดับภูมิภาคเข้ามาพิจารณาอย่างไร?

อย่างที่ผมได้กล่าวมาแล้ว การแก้ไขกรอบอ้างอิงเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่เราจะจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะที่กรุงเทพฯ และในภูมิภาคอื่นด้วย

ในแง่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมโดยทั่วไป ร่างฉบับที่ไทยเป็นผู้จัดทำได้ผ่านการแก้ไขหลายครั้ง ซึ่งเป็นเหตุให้แนวคิดเดิมที่ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี (ผู้แทนไทยคนแรกในคณะกรรมาธิการฯ) ได้เจือจางลงไป

จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยังไม่มีกลไกสื่อสารกับกลุ่มอื่นใด ยกเว้นการสื่อสารกับคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Working Group) ซึ่งเคยทำหน้าที่ในการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาก่อน

แนวทางการมีส่วนร่วมและขอบเขตเบื้องต้นของการแก้ไขกรอบอ้างอิง จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปีหน้าที่พม่าจะเป็นประธาน ปี 2557 จึงนับเป็นปัญหาท้าทายอย่างแท้จริง เนื่องจากพม่าต้องสร้างความชอบธรรมให้กับบทบาทตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมาต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ

คนทั่วไปมีความรู้สึกว่าคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเป็นเพียงกลไกหนึ่งของรัฐบาล

สมาชิกคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนบางท่านมีความคิดในการคุ้มครองรัฐบาล มากกว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในภูมิภาคนี้จริง

แต่โดยภาพรวมแล้ว ทั้งสมาชิกใหม่และเก่าต้องหาทางประนีประนอมในการดำเนินงาน ภาคประชาสังคมของไทยก็มีความคาดหวังสูงว่าหน่วยงานสิทธิมนุษยชนภูมิภาคแห่งนี้ จะสามารถมีบทบาทลึกซึ้งและกว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่

ในแง่การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม มีผู้เสนอว่าคณะกรรมาธิการฯ อาจนำแนวปฏิบัติพื้นฐานที่คณะกรรมการผู้แทนถาวร (Committee of Permanent Representatives) (เอกอัครราชทูตอาเซียนประจำกรุงจาการ์ตา) เพิ่งจัดทำขึ้นมาใช้ และอาจมีการปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับงานของคณะกรรมาธิการฯ ได้

เรากำลังพิจารณาว่า คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอาจทำงานในส่วนที่เป็นอนุสัญญาที่มีผลบังคับใช้ด้านกฎหมายมากขึ้น ไม่เฉพาะส่วนที่เป็นปฏิญญา

เพื่อให้สามารถทำงานได้เฉพาะเจาะจงและเป็นผลมากขึ้น เราอาจจัดตั้งคณะอนุกรรมการหรือหน่วยงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะบางอย่าง

นี้เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาในระหว่างการแก้ไขกรอบอ้างอิงของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย