ครบรอบ 5 ปี การหายตัวไปของ ‘สมบัด สมพอน’

ประชาไท: 09 ธันวาคม 2017

5 ปีผ่านไปหลังจากคดีลักพาตัวอื้อฉาว ที่เจ้าหน้าที่ทางการลาวเป็นผู้ก่อเหตุลักพาสมบัด สมพอน นักกิจกรรมพัฒนาของลาวผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่ารัฐบาลลาวแทบไม่มีปฏิบัติการค้นหาความจริง ขณะเดียวกันการบังคับให้สาบสูญในกรณีนี้ยังทำให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับเรื่องความทะเยอทะยานของรัฐบาลลาวในการส่งเสริมเศรษฐกิจผ่านโครงการพัฒนาขณะที่กดขี่สิทธิพลเมืองในวันที่ 15 ธ.ค. 2560 จะเป็นวันครบรอบ 5 ปี นับตั้งแต่มีคนพบเจอสมบัดเป็นครั้งสุดท้ายกับครอบครัว ในวันที่ 15 ธ.ค. 2555 กล้องวงจรปิดของสถานีตำรวจที่กรุงเวียงจันทน์มีการบันทึกภาพเจ้าหน้าที่รัฐลักพาตัวสมบัดจากบนถนน มีการหยุดรถจี๊ปของเขาก่อนที่จะพาตัวเขาส่งขึ้นรถบรรทุก ซุยเม็งเอ็ง ภรรยาชาวสิงคโปร์ของสมบัดเปิดเผยว่ามีพยานพบเห็นสมบัดและรถจี๊ปของเขาในที่กักขังของตำรวจ
“ถึงแม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 5 ปี ทุกๆ วันนี้ ฉันก็ยังถูกหลอกหลอนจากจินตนาการว่าอะไรเกิดขึ้นกับเขา” ซุยเม็งเอ็งกล่าวในการประชุมเสวนาเรื่อง “สมบัด สมพอน 5 ปีที่ผ่านมา” จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2560

ซุยเม็งเอ็ง เคยเป็นรักษาการผู้แทนของยูนิเซฟประจำประเทศลาวเมื่อปี 2543-2547 เธอกล่าวว่า ทางการลาวปฏิเสธความรับผิดชอบในกรณีนี้อยู่เสมอและปฏิเสธไม่ยอมให้ข้อมูลใดๆ กับเธอ “สำหรับฉันแล้ว แทบจะกลายเป็นว่าการตอบกลับของพวกเขาคือการปฏิเสธ ปฏิเสธ ปฏิเสธ จนกว่าผู้คนจะเบื่อหน่ายคดีนี้ไปเอง จากนั้นคดีนี้กจะหายไปจริงๆ และสมบัดก็จะหายไปตลอดการ แต่ฉันก็ยังคงพูดต่อไปว่าฉันไม่สนใจว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใด ฉันจะเรียกร้องต่อไป จะต่อสู้และรณรงค์เพื่อให้สมบัดกลับคืนมาต่อไป ฉันมองว่าเรื่องนี้คือความจำเป็นในการที่จะต้องมีความสัตย์จริงและความยุติธรรม ฉันไม่อาจยอมรับการไม่ได้รับรู้ความจริง”

เธอบอกอีกว่าตำรวจลาวเรียกตัวเธอผ่านช่องทางสถานทูตสิงคโปร์หลายครั้ง

“นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนมาก ถ้าหากคนที่เป็นแบบสมบัดหายตัวไปได้ ใครก็หายตัวไปได้ทั้งนั้น” ภรรยาของสมบัดกล่าว เธอบอกว่าการบังคับให้สาบสูญของสมบัดสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในหมู่คนทำงานภาคประชาสังคม ถึงแม้ว่าจะเป็นคนทำงานประชาสังคมที่ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีการเผชิญหน้า มีชื่อเสียง และไม่เคยอยากเข้าสู่การเมือง อย่างสมบัดก็หายตัวไปได้ อีกทั้งบรรยากาศแห่งความกลัวในหมู่ภาคประชาสังคมลาวก็ยังคงปกคลุมอย่างหนักแม้ว่าจะผ่านไป 5 ปีแล้ว

ชาร์ลส์ ซานติอาโก ส.ส. มาเลเซีย และประธานด้านสิทธิมนุษยชนของสภาอาเซียน (APHR) กล่าวว่าการบังคับให้สาบสูญในกรณีของสมบัดนั้นเป็นปฏิบัติการที่มาจากคำสั่งของรัฐออย่างแน่นอน ในฐานะของสมาชิก APHR แล้ว ซานติอาโกเข้าไปเยือนลาวหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2555 เพื่อสืบหาความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของสมบัด รวมถึงประเมินสถานการณ์ของภาคประชาสังคมในวงกว้าง แต่เขาก็ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจจากทางการลาวเลย

ซานติอาโกบอกว่าสมบัดเป็นหนึ่งในผู้นำอาเซียน เป็นผู้นำคนทำงานภาคประชาสังคมของอาเซียน อย่างไรก็ตามอาเซียนกลับล้มเหลวในการเป็นปากเป็นเสียงให้กับสมบัดและพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นนี้มาโดยตลอดโดยอ้างหลักการไม่ก้าวก่ายกัน “เป็นแบบนี้แล้ว เผด็จการของพวกเราก็จะหลบหนีจากการฆาตกรรมไปได้โดยไม่มีการตรวจสอบ”

ในปี 2548 สมบัดได้รับรางวัลแมกไซไซสำหรับความเป็นผู้นำชุมชน เนื่องจากสมบัด “มีความพยายามอย่างเต็มไปด้วยความหวังในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลาวผ่านการฝึกอบรมและการเสริมแรงจูงใจให้เยาวชนกลายเป็นผู้นำรุ่นใหม่”

มบัดมาจากครอบครัวชาวนายากจน เขาได้รับทุนการศึกษาให้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งฮาวาย ที่นั่นเขาได้รับปริญญาตรีด้านศึกษาศาสตร์และได้รับปริญญาโทด้านเกษตรกรรม สมบัดกลับสู่ลาวหลังจากที่ลาวมีการจัดตั้งระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวคือพรรคสังคมนิยมและสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงแล้ว งานของสมบัดหลักๆ แล้วอยู่ในสายเกี่ยวกับเกษตรกรรมแบบยั่งยืน การพัฒนา และการศึกษา

ในฐานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิก จากข้อมูลของธนาคารโลกระบุว่าลาวมีการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่โดยเฉลี่ยร้อยละ 7.8 ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากการฉวยใช้

ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรน้ำ เหมืองแร่ และป่า ในปี 2554 ลาวก็ประกาศตัวเองว่าจะเป็น “แบตเตอร์รี” หรือแหล่งพลังงานแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กระหายพลังงานอย่างมาก ในปัจจุบันลาวที่เป็นประเทศไม่ติดทะเลมีเขื่อนพลังงานน้ำอยู่ 16 แห่ง การสร้างเขื่อมนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดการบังคับย้ายถิ่นฐาน ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนท้องถิ่น ลาวไม่มีสื่อเสรีและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทำให้การรณรงค์และการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาการพัฒนานี้ถูกควบคุมจำกัดอย่างมาก แต่สมบัดก็ยังท้าทายวาทกรรมการพัฒนาของรัฐบาล

“มันทำให้ผมรู้สึกประทับใจที่ว่าสมบัดเป็นคนที่สร้างวาทกรรมการอธิบายใหม่ที่ต่างออกไป เขาผลักดันคำอธิบายในแบบของประชาชน คำอธิบายทางเลือก คำอธิบายแห่งความหวัง คำอธิบายแห่งการเสริมพลัง คำอธิบายแห่งความยั่งยืนและความท้าทายสำหรับชาวลาว โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาว คำอธิบายที่ว่ามันคือประเทศของพวกเขา และมันคือผืนดินของพวกเขา และพวกเขาควรจะเป็นผู้ควบคุมผืนดินของพวกเขาและสิ่งแวดล้อมของพวกเขาเอง” ซานติอาโกกล่าว

แอนน์-โซฟี กินดรอซ อดีตผู้อำนวยการสาขาลาวขององค์กรเฮลเวตัสองค์กรความร่วมมือสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ และเป็นผู้เขียนหนังสือ “Laos, the Silent Repression” เธอบอกว่าเธอตัดสินใจเขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากเกิดเหตุการหายตัวไปของสมบัดเพื่อบอกโลกให้เห็นถึงด้านมืดของประเทศนี้ โดยเฉพาะองค์กรที่บริจาคและองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ

“ฉันเชื่อว่าองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศสามารถทำอะไรได้มากกว่าการร่วมมือกับโครงการพัฒนา พวกเขาจะต้องส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับภาคประชาสังคมลาวที่จะต้องได้รับการเสริมพลังด้วย” กินดรอซกล่าว “ฉันคิดว่ามันมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างความร่วมมือกับการร่วมกระทำความผิด”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.