สำนักฃ่าวอิศรา: 27 มีนาคม 2013
‘เมียทนายสมชาย’ จี้ ‘ดีเอสไอ’ เอาจริงคดีหายตัว นานาชาติกดดันลาวตามหา ‘สมบัด เอ็นจีโอแมกไซไซ’ ถูกอุ้มหาย 100 วัน ภาคประชาสังคมไทยร่วมด้วย
วัน ที่ 27 มี.ค. 56 กองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่นน้ำโขง (TERRA) และ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดเสวนา ‘สิทธิมนุษยชนในประชาคมอาเซียน:กรณีศึกษาการสูญหายของสมบัด สมพอน และสมชาย นีละไพจิตร’ ณ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)
นางอังคณา นีละไพจิตร ภรรยานายสมชาย นีละไพจิตร ในฐานะประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าว ว่า ปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนหลายมาตราไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษย ชนสากล เช่น ม.5, ม.7 และม.8 จึงเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะคุ้มครองสิทธิของคนในภูมิภาคได้หรือไม่ โดยจากรายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ได้รับการร้องเรียนระบุอาเซียนมีผู้ถูกบังคับให้สูญหาย แบ่งเป็นประเทศลาว 1 กรณีและเวียดนาม 1 กรณี (ไม่รวมกรณีสมบัด สมพอน) พม่า 2 กรณี อินโดนีเซีย 162 กรณี ไทย 71 กรณี ซึ่งยูเอ็นเคยขอความร่วมมือรัฐบาลไทยเข้าร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ได้รับการปฏิเสธ
นางอังคณา ยังกล่าวถึงกรณีทนายสมชายว่าตกเป็นเหยื่อถูกบังคับให้สูญหายจากการกระทำของ เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคดีเกิดความไม่โปร่งใสในการสอบสวน ถูกแทรกแซง จนพยานหวาดกลัวว่าจะถูกคุกคามหลบหนีไปต่างประเทศ แม้ว่ารัฐบาลได้ร่วมลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย เมื่อปี 55 แล้ว
“กรณีคดี สมชายอาจเป็นเพียงโศกนาฏกรรมส่วนตัวซึ่งไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ รัฐบาลอาจจะย้อนว่าได้เงินแล้วจะเอาอะไรอีก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับสมชาย เราจะไม่ละทิ้งอุดมการณ์ที่เขามีมาตลอดชีวิต สมชาย นีละไพจิตร ไม่ใช่วีรบุรุษ แต่คือคนธรรมดาซึ่งเชื่อมั่นในความยุติธรรม”
นางอังคณา กล่าว ถึงความคืบหน้าว่าคดีลักพาตัวอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลฎีกา และคดีคนสูญหายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็น 1 ใน 3 คดี (คดีสมชาย นีละไพจิตร-กมล เหล่าโสภาพันธ์-อัลรู ไวลี่) ซึ่งวันนี้ดีเอสไอพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้จับกุมนายสมคิด บุญถนอม จำเลยคดีอุ้มนายอัลรู ไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย เข้าคุกให้ได้ แต่คดีสมชายและกมลกลับไม่คืบหน้า สะท้อนว่าบางทีความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยดุลอำนาจ ซึ่งเกิดกับคนธรรมดายาก โดยคุณสมชายเป็นกรณีศึกษาที่รัฐบาลจะต้องสร้างกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ขอคัดค้านแนวคิดการนำกฎหมายซ้อมทรมานมารวมกับกรณีอุ้มหาย เพราะมีนิยามของคำว่าเหยื่อต่างกัน
“เหยื่อ ในอนุสัญญาซ้อมทรมานหมายถึงผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทั้งทางกาย จิตใจ และการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ส่วนเหยื่อในนิยามของการอุ้มหาย ไม่ได้หมายถึงผู้ถูกบังคับอุ้มหายเท่านั้น แต่รวมถึงครอบครัว พยาน และบุคคลแวดล้อมที่ต้องได้รับการคุ้มครองด้วย” นางอังคณา กล่าว
นาย วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ นักพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมผู้เคยร่วมงานกับสมบัด ในฐานะผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำโขง กล่าวว่าต้น เหตุของการถูกบังคับให้สูญหายจำนวนมาก เกิดจากความขัดแย้งในการแย่งชิงฐานทรัพยากร ปัญหาชาติพันธุ์ ความขัดแย้งข้ามพรมแดน เช่นเดียวกับกรณีหายตัวไปของสมบัด สมพอน (นักพัฒนาอาวุโสชาวลาวที่ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาพัฒนาชุมชนปี 2548) ครบ 100 วัน ซึ่งสมบัดร่วมต่อสู้คัดค้านการนำ พื้นที่ในประเทศให้เอกชนต่างชาติเช่าในระยะเวลาที่ยาวนาน ส่งมีผลกระทบให้ชาวบ้านต้องสูญเสียที่ดินโดยไม่ได้รับค่าชดเชยเลย และร่วมคัดค้านกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอาจสาเหตุของการหายตัวไปหรือการเชือดไก่ให้ลิงดู
วิฑูรย์ กล่าวอีกว่ารัฐบาลลาวประเมินสถานการณ์หายตัวไปของอ้ายสมบัดต่ำเกินไปโดยบอก ว่าไม่รู้ไม่เห็น เพราะขณะนี้ประชาคมโลกกำลังหันมาจับจ้องการตามหาความยุติธรรมในเรื่องนี้
ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 25 มี.ค. 56 กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมแห่งประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลไทยมีส่วนร่วมคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของประชาชนในประเทศลาว กรณีการหายตัวไปของสมบัด สมพอน ขณะที่นายจอห์น แครี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลลาวชี้แจงความคืบหน้า .